---------------------------------------------------------------------------------------------------------

ความแตกต่างระหว่างกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง

หลักกฎหมายโดยกว้างๆ ทั่วๆไป สามารถแยกได้เป็น หลักกฎหมายอาญา และ หลักกฎหมายแพ่ง

ความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายทั้งสองอย่าง สามารถแยกได้ตามประเภทดังนี้

ลักษณะของกฎหมาย

กฎหมายแพ่ง จะว่าด้วย สิทธิ หน้าที่ และ ความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกัน
กฎหมายอาญา จะว่าด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ที่มีการบัญญัติความผิดที่ห้ามกระทำไว้ โดยส่วนใหญ่ต้องรับโทษในฐานความผิดที่ได้กระทำนั้น

วัตถุประสงค์ของกฎหมาย

กฎหมายแพ่ง จะรักษาความยุติธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกัน หรือ ระหว่างรัฐกับเอกชนในกรณีที่รัฐมีสิทธิในฐานะเอกชน
กฎหมายอาญา มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ผู้ใดละเมิดกฎหมายอาญา ถือได้ว่าละเมิดต่อรัฐโดยตรง

การตีความกฎหมาย

กฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่าการตีความกฎหมายย่อมต้องตีความตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายถ้าหากไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น – ซึ่งหมายถึง ถ้าไม่มีกฎหมายใดๆที่บัญญัติไว้ สามารถใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาวินิจฉัยตามประเพณีท้องถิ่น หรือ ที่ได้ทำสืบต่อกันมาได้
กฎหมายอาญา จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด ตามตัวอักษรที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ไม่สามารถขยายความไปถึงฐานความผิดที่เทียบเคียงกันได้ โดย กฎหมายอาญา ไม่มีผลย้อนหลัง และ จะไม่มีความผิด ถ้ากฎหมายไม่ได้บัญญัติความผิดไว้ ไม่มีโทษ ถ้ากฎหมายไม่ได้บัญญัติโทษไว้

สภาพบังคับ

กฎหมายแพ่ง ถ้ามีการล่วงละเมิดทางแพ่ง จะต้องชดใช้คืนเจ้าหนี้ หรือถ้าไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือไม่สามารถใช้หนี้ได้ ศาลอาจจะสั่งยึดทรัพย์ขายทอดตลาด หรือ ถูกกังขังจนกว่าจะทำตามคำพิพากษา
กฎหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติโทษไว้ 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และ ริบทรัพย์สิน

ไม่มีความคิดเห็น: