---------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อสงวน การเปลี่ยนแปลง การตีความ และความผูกพันของสนธิสัญญา

การตั้งเงื่อนไขในสนธิสัญญา (Reservation)

Reservation หมายถึง ข้อสงวน ซึ่งถ้อยแถลงฝ่ายเดียวที่รัฐกระทำขณะลงนามให้สัตยาบัน หรือยอมรับ หรือรับรอง หรือทำภาคยานุวัติ โดยแสดงว่าต้องการระงับหรือเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายบางอย่างของสนธิสัญญาในส่วนที่ใช้กับรัฐนั้น

ในสนธิสัญญาพหุภาคี บางครั้งจะเปิดโอกาสให้ประเทศที่ประสงค์จะเข้าเป็นภาคี ให้ความยินยอมเข้าผูกพันตามสนธิสัญญาโดยมีเงื่อนไขได้ โดยทำข้อสงวนว่าจะไม่ผูกพันตามข้อบทหนึ่งข้อบทใด หรือการทำ Reservation หรือคำแถลงตีความ หรือคำอธิบายข้อบทนั้นตามความเข้าใจของตน เพื่ออำนวยให้ประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหมดในสนธิสัญญาพหุภาคี สามารถเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไปพลางก่อน แล้วปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนไม่ได้ตั้งข้อสงวนไว้ และเมื่อใดที่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหมดในสนธิสัญญาแล้ว ก็สามารถแจ้งแก้ไข หรือยกเลิกเพิกถอนข้อสงวนที่ตนทำไว้ได้ ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า ข้อสงวนหรือคำแถลงดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของสนธิสัญญา

การยอมรับและการคัดค้านข้อสงวน

ถ้าสนธิสัญญากำหนดให้ตั้งข้อสงวนได้ก็ไม่ต้องใให้รัฐอื่นยอมรับ
ถ้ารัฐที่ร่วมเจรจามีจำนวนจำกัด หรือถ้าสนธิสัญญามีวัตถุประสงค์ใช้บังคับโดยครบถ้วน ข้อสงวนจะมีผลเมื่อภาคีอื่นๆ ยอมรับด้วย
ถ้าสนธิสัญญาเป็นเอกสารสำคัญในการก่อตั้งและดำเนินการขององค์การระหว่างประเทศ ต้องให้องค์การระหว่างประเทศยอมรับ
ผลทางกฎหมายของการตั้งข้อสงวน

จะถือว่ารัฐที่ยอมรับการตั้งข้อสงวนยอมแก้ไขบทบัญญัติของสนธิสัญญาด้วย ซึ่งก็คือเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้อสงวนเท่านั้น


การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญา มีหลักการดังนี้

จะต้องแจ้งข้อเสนอแก้ไขสนธิสัญญาให้ภาคีทุกรัฐรับทราบเพื่อตัดสินใจ
ทุกรัฐภาคีสนธิสัญญาฉบับเดิมมีสิทธิเป็นภาคีสนธิสัญญาที่มีการแก้ไขด้วย ในกรณีที่จะเปลี่ยนสนธิสัญญา
ไม่มีผลผูกพันรัฐที่เป็นภาคีสนธิสัญญาีแต่ไม่ได้เป็นภาคีในความตกลงที่แก้ไข
รัฐที่เข้าร่วมเป็นภาคีภายหลังจากที่มีการแก้ไขข้อตกลงใหม่ จะต้องเป็นภาคีฉบับที่แก้ไขและเป็นภาคีสนธิสัญญาฉบับเดิมด้วยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐที่ไม่ยอมรับข้อผูกพันตามสนธิสัญญาที่แก้ไขใหม่

การตีความสนธิสัญญา

วัตถุประสงค์ของการตีความสนธิสัญญา ก็คือ กำหนดความหมายที่แท้จริงตามความเข้าใจและความต้องการตั้งแต่แรกเริ่มของภาคี โดยแนวคิดทั่วไปที่ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับการตีความสนธิสัญญานั้นก็คือ จะถือว่าสนธิสัญญาถูกสร้างมาเพื่อให้มีผลปฏิบัติได้ การตีความจะต้องทำโดยสุจริตให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญา

การตกลงตีความระหว่างภาคี

เมื่อได้สรุปผลก็มักจะทำเป็นพิธีสารหรือเป็นหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน การตีความนั้นอาจจะเป็นการตีความโดยฝ่ายที่ 3 ก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นศาล องค์กรระหว่างประเทศ หรือคณะอนุญาโตตุลาการ

หลักการทั่วไปในการตีความสนธิสัญญา

การตีความตามอักษรและเจตนารมณ์ของภาคี
การตีความตามหลักวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของสนธิสัญญา
การตีความตามหลักเหตุผลและความสอดคล้องของถ้อยคำและเนื้อหา
การตีความตามความเป็นมาของนธิสัญญา
การตีความตามหลักประสิทธิผล

ความผูกพันของสนธิสัญญา



ผลต่อรัฐภาคีเมื่อยอมรับสนธิสัญญาแล้ว รัฐมีหน้าที่ต่างๆ เพื่อให้สนธิสัญญามีผลบังคับใช้สมบูรณ์ ดังนี้

การดำเนินการด้านนิติบัญญัติ ประเทศที่ถือหลักว่าสนธิสัญญาคือกฎหมายของรัฐ หรือเหนือกว่ากฎหมายของรัฐ หรือที่เรียกกันว่า "ทฤษฎีเอกนิยม" ไม่ต้องดำเนินการใดเพราะถือว่าสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ทันที ส่วนประเทศที่ถือหลัก "ทฤษฎีทวินิยม" (dualism) เช่นประเทศไทย ต้องมีการดำเนินการภายในอีกครั้ง เพื่อให้เกิดผลตามกฎหมายภายใน เช่นอาจจะมีการออกกฎหมายหรือพระราชบัญญัติออกมาเพื่อรองรับก่อนที่จะลงนามรับรองอนุสัญญาต่างๆ
การดำเนินการด้านบริหาร ฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศหรือลงพิมพ์ในหนังสือราชการเพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชนได้รับทราบ
การดำเนินการด้านตุลาการ หมายความว่า ในการใช้กฎหมายหรือการตีความกฎหมายโดยตุลาการนั้นต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาด้วย
ผลต่อรัฐที่ 3

สนธิสัญญาไม่อาจก่อพันธะหรือสิทธิใดๆ แก่รัฐที่ 3 ได้ หากรัฐที่ 3 ไม่ยินยอม ซึ่งการยินยอมโดยการแสดงออกอย่างเปิดเผย สนธิสัญญาอาจให้พันธะและสิทธิแก่รัฐที่ 3 ได้โดย

สนธิสัญญาอาจกำหนดพันธะแก่รัฐที่ 3 หากภาคีมุ่งให้เป็นเช่นนั้น และรัฐที่ 3 ยอมรับพันธะเป็นลายลักษณ์อักษร ในการล้มเลิกหรือเปลี่ยนแปลงพันธะจะกระทำได้ต่อเมื่อรัฐที่ 3 และภาคี ยินยอม
ภาคีในสนธิสัญญาอาจกำหนดให้แก่รัฐที่ 3 และรัฐที่ 3 ยอมรับ ก็คือการไม่แสดงออกในทางตรงกันข้ามนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: