---------------------------------------------------------------------------------------------------------

การทำสนธิสัญญา และการให้สัตยาบัน (Ratification)

ขั้นตอนในการทำสนธิสัญญา

การเจรจา คือตัวแทนหรือหน่วยงานซึ่งรัฐมอบหมายให้ทำหน้าที่เจรจา โดยจะต้องมีการรับรองของตัวแทนด้วย ยกเว้นผู้เจรจาที่มีตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญในประเทศ หรือปรากฎจากทางการปฏิบัติของรัฐที่เกี่ยวข้องจากสถานการณ์อื่นว่ารัฐตั้งใจให้บุคคลนั้นเป็นตัวแทนของรัฐ และสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องแสดงหลักฐาน ผู้ที่ได้รับการยกเว้นให้ถือว่ามีอำนาจเต็มที่ในการเจรจาโดยไม่ต้องแสดงหลักฐาน ก็คือผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางการอยู่แล้ว มีความสามารถโดยตำแหน่งอย่างเป็นทางการในการเจรจา ได้แก่ ประมุขของรัฐหรือประมุขของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต
การยอมรับชั่วคราว หลังจากมีการพิสูจน์ตรวจหลักฐานการมอบอำนาจเต็มแล้ว การปรึกษาหารือก็เริ่มต้นขึ้น ถ้าเป็นการทำสนธิสัญญาทวิภาคีก็จัดประชุมทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้าทำสนธิสัญญาพหุภาคีก็จัดประชุมทางการทูต การยอมรับชั่วคราวเป็นการยืนยันว่า ข้อความตัวสนธิสัญญานั้นเป็นข้อความที่ถูกต้อง

สำหรับ การลงนาม จะเกิิดขึ้นเมื่อผลของการเจรจายุติลง จะมีการร่างสนธิสัญญาขึ้นแล้วมีการรับรองหรือยอมรับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นการยืนยันโดยรัฐนั้นว่าข้อความที่ปรากฎในสนธิสัญญาเป็นข้อความที่ถูกต้องตามที่ตกลงกันไว้ในการประชุม แม้การลงนามในสนธิสัญญาจะเป็นเพียงการยอมรับดังกล่าว ซึ่งยังคงไม่มีผลผูกพันต่อรัฐอย่างใดทั้งสิ้น แต่ในทางการปฏิบัติ การลงนามก่อให้เกิดผลผูกพันบางส่วนแล้ว

การลงนามเพื่อการยอมรับชั่วคราวอาจจะเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจก็ได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการลงนาม ได้แก่ การที่ผู้ลงนามขาดอำนาจในการลงนาม และการที่ผู้ลงนามใช้อำนาจเกินขอบเขต
การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนาของรัฐที่รับข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะที่ปรากฎในสัญญาการลงนาม ในฐานะที่เป็นการยอมรับขั้นสุดท้าย จะมีผลก็ต่อเมื่ือไม่มีข้อกำหนดว่าสนธิสัญญาต้องได้รับสัตยาบัน สนองรับ หรือให้ความเห็นชอบ และจะมีการแลกเปลี่ยนเอกสารโดยมีข้อตกลงว่า มีผลผูกพันเมื่อแลกเปลี่ยนเอกสาร หากมีการแลกเปลี่ยนเอกสารก็ไม่จำเป็นต้องให้สัตยาบัน

สำหรับ การให้สัตยาบัน โดยทั่วไปเป็นการยอมรับขั้นสุดท้ายสำหรับสนธิสัญญาสำคัญ มักกระทำโดยการให้สัตยาบัน ซึ่งทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้

สนธิสัญญญาระบุให้รัฐแสดงความยินยอม โดยให้สัตยาบัน
มีการกำหนดไว้โดยวิธีอื่น ว่ารัฐที่เข้าร่วมเจรจาตกลงให้มีการให้สัตยาบัน
ผู้แทนของรัฐได้ลงนามในสนธิสัญญาที่ต้องการมีการให้สัตยาบัน
รัฐผู้ลงนามในสนธิสัญญาแสดงเจตนาให้ปรากฎในหนังสือมอบอำนาจเต็ม หรือแสดงเจตนาในระหว่างการเจรจา
กระบวนการให้สัตยาบัน เป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและแนวทางปฏิบัติในรัฐธรรมนูญของรัฐในแต่ละรัฐ

การไม่ยอมใหสัตยาบันในสนธิสัญญาและการให้สัตยาบันล่าช้า ตามหลักการแล้วสนธิสัญญาซึ่งไม่ได้รับสัตยาบันจะไม่มีผลตามกฎหมายจนกว่าจะได้รับสัตยาบัน ยกเว้นกรณีที่สนธิสัญญามีผลทันทีที่ลงนาม มีบางกรณีที่หลังจากที่รัฐบาลทบทวนดูแล้วไม่ยอมรับสนธิสัญญา เรื่องนี้แนวทางปฏิบัติของแต่ละรัฐจะแตกต่างกันไป เช่น สหรัฐฯ เมื่อสภาซีเนทปฏิเสธประธานาธิบดีก็ให้สัตยาบันไม่ได้

กระบวนการภายหลังการให้สัตยาบันสนธิสัญญา

การจดทะเบียนสนธิสัญญา โดยต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นการรวบรวมความตกลงระหว่างประเทศไว้เป็นหลักฐาน และป้องกันการทำสนธิสัญญาลับระหว่างประเทศ


การประกาศหรือจัดพิมพ์เผยแพร่สนธิสัญญา การประกาศยอมรับการพิจารณาคดีโดยบังคับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือการตกลงฝ่ายเดียวที่มีผลระหว่างประเทศ คำประกาศเหล่านี้จะถูกนำมาจดทะเบียนกับสำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และสำนักงานเลขาฯ ก็จะจัดพิมพ์เผยแพร่สนธิสัญญาต่างๆ ในชุดสนธิสัญญาสหประชาชาติ


การเก็บรักษาและดูแลสนธิสัญญา เมื่อตกลงทำสนธิสัญญา ก็จะมีการตั้งฝ่ายเก็บรักษาและดูแลสนธิสัญญา ผู้ดูแลจะเป็นรัฐใดรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐ หรืออาจจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: